เกี่ยวกับเรา

ประวัติสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย

จุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน

นับแต่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมในสมัย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา อาชีพที่เจริญเติบโตควบคู่กันมากับการท่องเที่ยวไทย คือ มัคคุเทศก์ซึ่งก็ได้มีกลุ่มมัคคุเทศก์จัดพบปะสังสรรค์กันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 จึงเห็นควรว่าน่าจะรวบรวมบรรดาผู้ที่ประกอบอาชีพ มัคคุเทศก์ให้เป็นปึกแผ่น โดยดำริให้จัดตั้งเป็นสมาคมขึ้น ดังนั้น จึงได้มีการประชุมในหมู่มัคคุเทศก์รุ่นเก่า ๆ สมัยนั้นหลายคน ซึ่งสถานที่แห่งแรกที่มีการประชุมกันอย่างเป็นทางการคือ ร้านจิตรโภชนา เพื่อร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการร่างหลักการและข้อบังคับในการก่อตั้งสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพขึ้นมา พร้อมทั้งรวบรวมสมาชิกได้จำนวนประมาณ 50 คน หลังจากนั้น ก็ได้มีการเตรียมการจัดตั้งสมาคมขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์เบื้องต้นในการที่จะรักษาผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก ต่อมา จึงได้นำร่างข้อบังคับไปยื่นขอจดทะเบียนต่อสันติบาล กรมตำรวจ และกองวัฒนธรรม กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้เป็น “สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ” ที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2518

การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพในครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่โรงแรมรอแยล รัตนโกสินทร์ มีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 132 คน โดยผลการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดแรกนี้ มี นายเถกิงศักดิ์ สุวรรณทัต เป็นนายกสมาคมคนแรก และต่อ ๆ มาก็มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนผู้เป็นนายกสมาคมมาเป็นลำดับดังนี้คือ

ปี พ.ศ. นายกสมาคม
2518-2519 นายเถกิงศักดิ์ สุวรรณทัต
2520 (ครึ่งปีแรก) นายบูรณะ ศรฤทธิ์ชิงชัย
2520 (ครึ่งปีหลัง) นายเถกิงศักดิ์ สุวรรณทัต
2521-2522 นายเถกิงศักดิ์ สุวรรณทัต
2523 นายเสงี่ยม เอกโชติ
2524 นายคำนนท์ สูตะบุตร
2525 นายกมล เกตุสิริ
2526 นายบัณฑิต ฉันทศักดา
2527 นายคำนนท์ สูตะบุตร
2528 นายเถกิงศักดิ์ สุวรรณทัต
2529 นายบัณฑิต ฉันทศักดา
2530-2531 นายเสงี่ยม เอกโชติ
2532 นางละออง พุ่มสุโข
2533-2536 นายเถกิงศักดิ์ สุวรรณทัต
2537-2538 พ.ต.อ.พิเศษ แสงทอง กำเนิดมี
2539-2542 นายเถกิงศักดิ์ สุวรรณทัต
2543 นายไชยยงค์ เจริญเมือง
2544-2546 นายจารุพล เรืองเกต
2547-2552 นายวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์
2553-2554 นายพงศ์พันธุ์ จันทร์สุกรี
2555 ถึงปัจจุบัน นายชาติ จันทนประยูร
ปี พ.ศ. ที่อยู่ที่ทำการ
2518-2520 1037/2 เอส ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10500
2521-2524 บริษัท ทราเว็กซ์ จำกัด เลขที่ 82/5 ซอยหลังสวน ถ.เพลินจิต ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10500
2525-2527 อาคารปริญญา ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10500
2528- 2542 420/9-10 อาคารบุญวานิช สยามสแควร์ ซอย 1 ปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10500
2543-2545 99/7 ซอยสดพิณสรร ถนนรางน้ำ พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ ฯ 10400
2546-2547 ชั้น 2 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถ.ราชดำเนินนอก ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
2548-2549 ชั้น 4 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ห้วยขวาง ราชเทวี กรุงเทพ ฯ 10400
2550-ปัจจุบัน 154 ชั้น 1 อาคารกรมการท่องเที่ยว สนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพ ฯ 10330
โทร. 0 2219 2721-20 2219 2721-2 แฟกซ์ 0 2219 27230 2219 2723

จุดประสงค์

1. เพื่อเป็นองค์กรในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรม ตลอดจนการสร้างสรรค์ ธำรงไว้ซึ่ง เกียรติยศ และ
ศักดิ์ศรีของมัคคุเทศก์

2. ยกระดับมาตรฐานและส่งเสริมวิทยะฐานะแห่งอาชีพมัคคุเทศก์ และมุ่งเน้นให้คำนึงถึงจริยธรรม คุณธรรม
และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

3. ส่งเสริมวัฒนธรรม ธรรมเนียมจารีตประเพณี ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์แห่งชาติ

4. เพื่อส่งเริมงานมัคคุเทศก์ให้เป็นวิชาชีพที่เป็นที่ยอมรับของสังคม อันจะเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียง เกียรติคุณแห่งอาชีพมัคคุเทศก์

5. สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวและเผยแพร่ข่าวสาร

6. จัดสวัสดิการระหวางสมาชิก

7. ส่งเสริมสามัคคีธรรม และภราดรภาพ รวมทั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือและประสานงานกับสมาชิกและองค์กรอื่น เพื่อดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่ สมาชิกหรือสังคมในส่วนรวม

8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดทั้งการส่งเสริมการกีฬา และสาระบันเทิง

9. เพื่อดำเนินการอื่นๆ อันจะช่วยให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ข้างต้นนี้

สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการประสานงาน เพื่อช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในทุกด้านระหว่างสมาชิก และระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้อยู่ในวิชาชีพมัคคุเทศก์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่

สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการประสานงาน เพื่อช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในทุกด้านระหว่างสมาชิก และระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้อยู่ในวิชาชีพมัคคุเทศก์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่

1. งานด้านพัฒนา ร่วมจัดอบรม สัมมนา ทั้งในด้านภาษาและเพิ่มพูนความรู้ด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้กับมัคคุเทศก์ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอาชีพเพื่อให้มีคุณภาพ และมาตรฐานด้านบริการที่ดี รวมทั้งการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว โดยร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเข้าร่วมฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เสื่อมโทรมร่วมกับภาครัฐและเอกชน

2. งานด้านการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ เป็นองค์กรที่เป็นเครือข่ายให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์งานด้านตลาดต่าง ๆ ผ่านมัคคุเทศก์ทั่วไป รวมทั้งร่วมประชาสัมพันธ์ผ่านเว็ปไซด์และวารสารของสมาคม รวมทั้งเป็นทูตวัฒนธรรม และทูตการค้า ระหว่างประเทศในการชักชวนให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวัฒนธรรม ประเพณี และสินค้าของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ และสนใจในสิ่งดี ๆ ของเมืองไทย และร่วมออกงานส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่งมัคคุเทศก์เฉพาะภาษาที่จะไป ณ ประเทศที่ใช้ภาษานั้นให้กับ ททท. หรือ กระทรวงต่าง ๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น ที่มีคณะเดินทางเพื่อไปส่งเสริมการตลาด และเจรจาการค้าและการท่องเที่ยว เพื่อเป็นล่าม ประสานงาน และนำเสนอประเทศไทยงาน Road show ต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย

3. งานด้านการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยว ช่วยเหลือภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือแก้ไขปัญหา อาทิ การเข้าร่วมคณะทำงานปราบปรามและป้องกันการทำธุรกิจท่องเที่ยวที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ก่อให้เกิดภาพพจน์ที่ไม่ถูกต้องซึ่งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยในทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำทัวร์ศูนย์เหรียญ การหลอกลวงนักท่องเที่ยว เป็นต้น รวมทั้งการร่วมแก้ไขปัญหาเมื่อมีวิกฤติจากภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ ที่มัคคุเทศก์ได้นำมัคคุเทศก์ภาษาต่าง ๆ ไปให้บริการนักท่องเที่ยวที่ประสบปัญหา รวมทั้งล่าสุดในเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองอันเนื่องจากการปิดสนามบินนานาชาติดอนเมือง และสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ที่ได้ส่งมัคคุเทศก์อาสาสมัครภาษาต่าง ๆ ไปช่วยประสานงานกับ ททท. ในการอำนวยความสะดวกและสื่อภาษาต่างประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตกค้างไม่สามารถบินกลับประเทศได้

4. งานด้านความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ การรับเป็นวิทยากร และเข้าร่วมในการประชุม สัมมนา และบรรยายด้านวิชาการให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และร่วมกับสมาคมองค์กรต่าง ๆ ในการจัดทำโครงการ รวมทั้งการเข้าร่วมในคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยโดยตรงและโดยอ้อม

5. การเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์มัคคุเทศก์โลก (World Federaton of Tourist Guide Associations-WFTGA) และสมาชิกร่วมก่อตั้งสมาคมมัคคุเทศก์อาเซียน (South East Asia Tourist Guides’ Association-SEATGA) เพื่อเป็นผู้แทนมัคคุเทศก์ของประเทศ ในการเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกนอกจากจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการร่วมสัมมนา อบรมความรู้ ทักษะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานของมัคคุเทศก์ระดับสากลในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังได้รับความร่วมมือในอีกหลายมิติทั้งระดับภูมิภาค และนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเทศไทย รวมถึงการที่จะเสนอแนะให้มีการจัดการประชุมมัคคุเทศก์โลก (Biennial International Convention of WFTGA) ที่ประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของไทยให้แพร่หลายทั่วโลกยิ่ง ๆ ขึ้น

6. การร่วมจัดตั้ง “สมาพันธ์สมาคมเครือข่ายท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

การร่วมจัดตั้ง “สมาพันธ์สมาคมเครือข่ายท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (Federation of Thailand Tourism Network Associations) ประกอบด้วยสมาชิก 11 องค์กร ได้แก่ 1. สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย 2. สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย 3. สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยระหว่างประเทศ 4. สมาคมเรือไทย 5. สมาคมรถโดยสารไม่ประจำทาง 6. สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย 7. สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 8. สมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจ 9. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ 10. ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนเพื่อการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม 11. สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นเอกภาพในภาคเอกชน และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้ได้มาตรฐานอย่างมีคุณภาพในบริการและความปลอดภัย โดยทำให้เกิดเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงการทำงานในลักษณะการรวมกลุ่มสมาคม ชมรม ด้านอุตสาหกรรมการบริการท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาบุคลากร การตลาด และการบริการท่องเที่ยวร่วมกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ข้อมูล สถิติ ด้านการท่องเที่ยวต่อกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพ ความเข้มแข็งต่อกลุ่มสมาคม ชมรม ที่เป็นพันธมิตร และยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการที่จะแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา วิถีชิวิต วัฒนธรรม และความเป็นไทย รวมทั้งการร่วมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

7. การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์มัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ก่อตั้งและจดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหกรณ์ ให้บริการทางการเงินแก่สมาชิก และจัดหาทุนและบริการเงินกู้เพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีพ รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก รวมทั้งการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อเป็นสวัสดิการของสหกรณ์ และของสมาชิก

8. การมีผู้แทนร่วมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานในภาครัฐและเอกชน ต่าง ๆ อาทิเช่น

  • กรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551
  • กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สาขามัคคุเทศก์)
  • กรรมการติดตามเร่งรัดพัฒนาการท่องเที่ยว
  • กรรมการ สมาคมมัคคุเทศก์อาเซียน (South East Asia Tourist Guides Association – SEATGA)
  • ประธานที่ปรึกษาสมาพันธ์สมาคมเครือข่ายท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (Federation of Thailand Tourism Network Associations)
  • กรรมการอำนวยการมาตรฐานการท่องเที่ยวของประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • กรรมการอำนวยการมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย (Board Member of Thai Home Stay Standard)
  • กรรมการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ปราศจากอุปสรรคสำหรับคนทั้งมวล (Board Member of Promoting for Development on Accessible Tourism)
  • กรรมการการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และมัคคุเทศก์ดีเด่น (Thailand Tourism Awards) – ททท.
  • อนุกรรมการยกร่างอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551
  • อนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551
  • อนุกรรมการพิจารณาหลักสูตรและมาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว
  • อนุกรรมการบริหารจัดการกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว
  • อนุกรรมการมาตรฐานบริการเพื่อการท่องเที่ยว
  • อนุกรรมการสถิติสาขาการท่องเที่ยวและกีฬา
  • อนุกรรมการสมาคมวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา ด้านการท่องเที่ยว กระทรวงการต่างประเทศ
  • อนุกรรมการด้านการค้าบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  • อนุกรรมการธุรกิจท่องเที่ยวและกีฬา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  • วิทยากรรับเชิญสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐและเอกชน
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมเรือไทย, สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย และสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย
  • ฯลฯ